วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา***
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติ
จากเทพนิกายเมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ
ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายเทวดาทั้งหลายทราบว่า
เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย
ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดา
ทั้งหลายอะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
พระเจ้าข้า.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล
เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัย
ที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภ
ที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็ศรัทธาของเทวดานั้นแล
เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก
พึงนำไปไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล
เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกาย
เพราะความสิ้นอายุเมื่อนั้น
เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี
ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ
ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็น
สหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิดท่านเป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม
ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น
มีมูลเกิดแล้วมั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว
อันใครๆพึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้
หาอุปธิมิได้แต่นั้นท่านจงกระทำบุญ
อันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน แล้วยัง
สัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม
ในพรหมจรรย์ เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ
เมื่อนั้น ย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า
แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ.
.............................
(บาลี) อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑-๒๖๒.
คติผู้ที่ต่ำกว่าโสดาบันไม่แน่นอน***
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ
บางคราวตกเอาโคนลง
บางคราวตกเอาตอนกลางลง
บางคราวตกเอาปลายลง,
ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. !
สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องผูก
แล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ
ก็ทำนองเดียวกัน
บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น
บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่.
อริยสัจสี่อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรม
อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.
แว่นธรรมตรวจสอบความเป็นโสดาบันด้วยตนเอง***
อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตน
เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัย
สิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว, ในข้อที่ตนเป็น
พระโสดาบันผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อ
พระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า
ดังนี้.
อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม
ในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า.... ในองค์พระธรรม....
ในองค์พระสงฆ์....และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของ
เหล่าอริยเจ้า คือเป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ
เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.
อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใดได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้, ดังนี้แล.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐-๔๕๑/๑๔๗๙-๑๔๘๐.

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

มากกว่าความสุข

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖

หลักปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖
=====================
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อม
ทิศทั้งหกอย่างไรพระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรม
ที่เป็นการนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”.
คหบดีบุตร !
พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่ คือ :-
พึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า),
พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง),
พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย),
พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องตำ่),
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน
(๒) เราจักทำกิจของท่าน
(๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล
(๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท
(๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจัก
กระทำทักษิณาอุทิศท่าน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา
อันบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) ให้ศึกษาศิลปะ
(๔) ให้มีคู่ครองที่สมควร
(๕) มอบมรดกให้ตามเวลา
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ
(๒) ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้
(๓) ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง
(๔) ด้วยการปรนนิบัติ
(๕) ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
อันศิษย์ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) แนะนำดี
(๒) ให้ศึกษาดี
(๓) บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง
(๔) ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย
(๕) ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการยกย่อง
(๒) ด้วยการไม่ดูหมิ่น
(๓) ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้
(๕) ด้วยการให้เครื่องประดับ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา
อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) จัดแจงการงานดี
(๒) สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
(๓) ไม่ประพฤตินอกใจ
(๔) ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่
(๕) ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยการให้ปัน
(๒) ด้วยการพูดจาไพเราะ
(๓) ด้วยการประพฤติประโยชน์
(๔) ด้วยการวางตนเสมอกัน
(๕) ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
(๒) รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
(๓) เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย
(๔) ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย
(๕) นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง
(๒) ด้วยการให้อาหารและรางวัล
(๓) ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้
(๔) ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้
(๕) ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
(๒) เลิกงานทีหลังนาย
(๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔) กระทำการงานให้ดีที่สุด
(๕) นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ ์
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ด้วยเมตตากายกรรม
(๒) ด้วยเมตตาวจีกรรม
(๓) ด้วยเมตตามโนกรรม
(๔) ด้วยการไม่ปิดประตู (คือ ยินดีต้อนรับ)
(๕) ด้วยการคอยถวายอามิสทาน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ :-
(๑) ห้ามเสียจากบาป
(๒) ให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม
(๔) ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
(๕) ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด
(๖) บอกทางสวรรค์ให้
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
ปา. ที. ๑๑/๑๙๕-๒๐๖/๑๗๔-๒๐๕.
ขอเชิญดูคลิปวีดีโอครับใน youtube เกี่ยวกับการตอบแทนมารดาบิดาอย่างสูงสุดและความสำคัญบางส่วนของพุทธวจน2คลิปดูตามลิงค์ได้เลยครับ I am browsing [ประมวลภาพ ชวนน้องท่องพุทธวจน "ให้ก้องโลก"_2018-07-27 - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=W-3HOGctvDk I am browsing ["ถ้ามีพระอย่างนี้ในขอบเขตประเทศไทยมากๆ ผมว่าธรรมะต้องกลับมาอย่างรวดเร็วแน่นอน" - YouTube]. Have a look at it!https://m.youtube.com/watch?v=DEf_I37hsmY [๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุทั้งหลายนั้นทูลรับพระดำรัส พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนอกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนสัตบุรุษย่อมเป็นคน กตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ ฯ [๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่าน ทั้ง ๒ ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่งพึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่งเขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขา พึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละดูกรภิกษุทั้งหลายการกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธา สัมปทา ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว ทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา. E-Tipitaka_20/58/277-278