วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา

สุคติและศรัทธาที่ตั้งมั่นของเทวดา***
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติ
จากเทพนิกายเมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ
ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลายเทวดาทั้งหลายทราบว่า
เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย
ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า
แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดา
ทั้งหลายอะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
พระเจ้าข้า.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล
เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัย
ที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภ
ที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็ศรัทธาของเทวดานั้นแล
เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง
อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก
พึงนำไปไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล
เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกาย
เพราะความสิ้นอายุเมื่อนั้น
เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี
ย่อมเปล่งออกไปว่า แน่ะท่านผู้เจริญ
ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็น
สหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิดท่านเป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม
ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น
มีมูลเกิดแล้วมั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว
อันใครๆพึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้
หาอุปธิมิได้แต่นั้นท่านจงกระทำบุญ
อันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน แล้วยัง
สัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม
ในพรหมจรรย์ เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ
เมื่อนั้น ย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า
แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ.
.............................
(บาลี) อิติวุ. ขุ. ๒๕/๒๘๙/๒๖๑-๒๖๒.
คติผู้ที่ต่ำกว่าโสดาบันไม่แน่นอน***
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ
บางคราวตกเอาโคนลง
บางคราวตกเอาตอนกลางลง
บางคราวตกเอาปลายลง,
ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. !
สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้นมีตัณหาเป็นเครื่องผูก
แล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ
ก็ทำนองเดียวกัน
บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น
บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่.
อริยสัจสี่อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรม
อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.
แว่นธรรมตรวจสอบความเป็นโสดาบันด้วยตนเอง***
อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตน
เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัย
สิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว, ในข้อที่ตนเป็น
พระโสดาบันผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อ
พระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า
ดังนี้.
อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม
ในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า.... ในองค์พระธรรม....
ในองค์พระสงฆ์....และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของ
เหล่าอริยเจ้า คือเป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ
เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.
อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใดได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้, ดังนี้แล.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐-๔๕๑/๑๔๗๙-๑๔๘๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น